June 09, 2014

ผลวิจัย เด็กไทย "ผอม อ้วน เตี้ย ไอคิวต่ำ"

ภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์

ผลวิจัยพบว่า ในชีวิตจริง ทิศทางของเด็กไทยกลับมุ่งไปในแนว "ผอม อ้วน เตี้ย ไอคิวต่ำ" เป็นโจทย์ที่น่าตกตะลึง ขณะที่สังคมไทยมีค่านิยมชอบความสูง หล่อ ฉลาดเฉลียว
 โฆษณาสินค้าที่เกี่ยวกับเด็กหรือคนรุ่นใหม่ จะเน้นความเป็นซุปเปอร์บอย ฉลาดกว่าเพื่อน หล่อเหลาแบบเกาหลี ญี่ปุ่น หรือลูกครึ่งตะวันตกไปเลย

ข้อมูลของ "นางนิภา โรจน์รุ่งวศินกุล" หัวหน้าหน่วยชีวสถิติ และหัวหน้าโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน หรือ SEANUTS (South East Asia Nutrition Sur) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่ได้สำรวจเด็กไทยจำนวน 3,119 คน อายุระหว่าง 0.5-12.9 ปี ช่วง พ.ศ.2554-2555 ระบุว่า เด็กไทยกำลังประสบภาวะทุพโภชนาการ และขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เด็กวัย 3-6 ปี มีภาวะน้ำหนักเกิน และอาจกลายเป็นเด็กอ้วนในช่วง 6-12 ปี รวมทั้งภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและไอโอดีน สาเหตุสำคัญมาจากการได้รับสารอาหารที่จำเป็นจากการเติบโตของร่างกายไม่เพียงพอ หรือไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยทารก ทั้งวิตามินเอ วิตามินดี ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และแคลเซียม

น่าตกใจไปกว่านั้น เมื่อมีการเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของเด็กอายุ 6-12 ปี ในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ภาพรวมพบเด็กไทยมีสติปัญญาค่อนข้างด้อยกว่าประเทศอื่น โดยพบว่า เด็กประเทศเวียดนามมีระดับไอคิวล่าช้ากว่าปกติ คือ ต่ำกว่า 80 ถึง 25.7% ของจำนวนเด็กที่สำรวจทั้งหมด รองลงมาคือไทย 14.7% มาเลเซีย 10.1% และอินโดนีเซีย 6.8% ระดับไอคิวค่อนข้างต่ำ 80-89 ไทย 40.7% เวียดนาม 17.6% มาเลเซีย 14.7% และอินโดนีเซีย 12.8% ไอคิวระดับปานกลาง มาเลเซีย 39.7% ไทย 37.1% เวียดนาม 34.3% อินโดนีเซีย 34.4%

ขณะที่เด็กไทยมีไอคิดระดับดี 110-119 ต่ำสุด 5.6% รองลงมาคือเวียดนาม 11.6% มาเลเซีย 19.1% และสูงสุดคือ อินโดนีเซีย 30.9% และเด็กไทยมีไอคิวระดับดีเลิศ 120 ขึ้นไป เพียง 1.9% มาเลเซีย 10.7% เวียดนาม 10.8% และสูงสุดคือประเทศอินโดนีเซีย 15.3% การวิเคราะห์พบว่า สาเหตุหลักๆ มาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ที่กระทบต่อคุณภาพทางโภชนาการของครอบครัวสอดคล้องกับตัวเลขของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่าเด็กที่ไอคิวต่ำของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่อาหารการกินอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว นางนิภาเสนอว่า ควรให้ความใส่ใจเรื่องอนามัยแม่และเด็กเพิ่มขึ้น และควรจะต้องให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เป็นการเตรียมตัว และจะต้องเร่งแก้ปัญหาแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม เพราะถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

"นายสง่า ดามาพงษ์" นักวิชาการด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่าวันนี้ภาพของเด็กไทยประกอบไปด้วย เด็กผอม เตี้ย อ้วน และโง่
จากงานวิจัยของ SEANUTS บ่งชี้ว่า ภาวะน้ำหนักเกินมีความชัดเจนในกลุ่มเด็กเมืองอายุ 6-12 ปี

ขณะที่ในเด็กชนบทมีภาวะเติบโตหยุดชะงักทำให้เป็นเด็กแคระแกร็นสูงกว่าเด็กเมืองถึงสองเท่า โดยเด็กทารกแรกเกิด 0.5-2.9 ปี ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต สาเหตุมาจากคุณภาพอาหารที่ทารกได้รับต่ำมาก ส่วนเด็กวัยเรียนและเด็กอนุบาล ยังเจอปัญหากินอาหารคุณภาพต่ำ

สาเหตุเชิงพฤติกรรมที่ทำให้เด็กไทยมีสภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะเด็กไทยกินผักผลไม้น้อยลง วันหนึ่งไม่ถึงช้อนครึ่ง ทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุ เป็นสาเหตุของอาการเซื่องซึม

โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผลไม้และผักมีราคาสูงขึ้น ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องโภชนาการ นิยมปลูกผักไว้ขาย ไม่ได้ไว้กิน  ขณะเดียวกัน ยังพบว่าเด็กไทย 46% กินขนมกรุบกรอบ ซึ่งมีไขมันและโซเดียมสูง และ 49% ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน 92% กินอาหารประเภททอด

"ถ้าปล่อยให้เด็กที่ขณะนี้กำลังเรียนอยู่ระดับอนุบาล และประถม ยังอ้วนและควบคุมไม่ได้ เด็กจะเสี่ยงเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนในอนาคต ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เป็นหายนะของชาติ แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ด้านสุขภาวะมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องรณรงค์ให้พ่อแม่มีความเข้าใจในการเลือกอาหารให้กับเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กดื่มนมจืด โครงการนมโรงเรียนก็ควรต้องใช้นมจืดเท่านั้น"

การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง "นางกัลยา กิจบุญชู" หัวหน้าหน่วยสรีระวิทยาโภชนาการ มม. เสนอว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้ามาคุยกัน เพราะเท่าที่ดูการที่เด็กไทยมีภาวะทุพโภชนาการเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ปัจจุบัน ไม่นิยมพาลูกออกนอกบ้าน ด้วยเกรงว่าจะไม่สบายบ้าง อากาศร้อนบ้าง

ทั้งที่ความจริงแล้ว การพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน การที่พ่อแม่ไม่พาลูกออกนอกบ้าน ทำให้เด็กติดเทคโนโลยี และที่สำคัญควรส่งเสริมการเล่นกีฬาเพื่อให้เด็กได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายปี แต่แนวโน้มปัญหาไม่ได้ลดลงนัก ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องกลับมาทบทวนแนวทางแก้ไขปัญ
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน

สพป.อย.๑ ประชุมปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน



เมื่อวันที่ ๕  มิถุนายน  ๒๕๕๗  ผอ.ภิรมย์  นันทวงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต ๑ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประชุมโรงเรียนในอำเภอนครหลวง  เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีแนวทาง หรือวิธีการในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามความเหมาะสมของโรงเรียนโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการสอบ O-NET และ NT เป็นฐาน ปีการศึกษา ๒๕๕๖  ของโรงเรียนที่วิเคราะห์ว่าแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ละสมรรถนะอยู่ในพื้นที่คุณภาพใด  จัดทำโครงการพัฒนา / ปรับปรุง  ตามข้อมูลการวิเคราะห์เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น  ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูวิชาการ  จำนวน  ๓๘  คน  โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากศึกษานิเทศก์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต ๑
ข่าวการศึกษา อ่านข่าวทั้งหมด
ข่าวการศึกษา